วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เกี่ยวกับประตูน้ำ

มหัศจรรย์ ประตูน้ำ ทำเลทอง ค้าปลีก ค้าส่ง ขุมทรัพย์ไอเดีย-ธุรกิจทำเงิน
.....ถ้าไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะได้เห็น ทำเลทองย่านประตูน้ำมีการพลิกโฉมแตกต่างไปจากเดิมที่รวดเร็วขึ้น เพราะขนาดสภาพเศรษฐกิจและการเมืองมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำลายบรรยากาศการลงทุนอย่างร้ายแรง ความเคลื่อนไหวด้านการลงทุน พร็อพเพอร์ตี้ใหม่ๆ ทั้งโรงแรม ศูนย์แฟชั่นค้าส่งและค้าปลีก ที่มาทั้งในรูปเดี่ยวๆ และมาเป็นแพ็กคู่ ยังเกิดให้เห็นอย่างต่อเนื่องในช่วงตลอดปีนี้ และต่อเนื่องอีก 2-3 ปีข้างหน้า

เห็นได้จากความเคลื่อนไหวที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ช่วงแยกราชเทวี ขึ้นไปจนถึงสี่แยกประตูน้ำ และเลี้ยวซ้ายไปจนถึงถนนมักกะสัน หรือเลี้ยวขวาไปสี่แยกพระพรหม คือการเกิดขึ้นของโครงการใหม่ ใน 3 รูปแบบหลักๆ คือ โรงแรม คอนโดมิเนียม และ ช็อปปิ้งมอลล์ในรูปแบบค้าปลีกค้าส่ง

แต่ถ้าหากโฟกัสให้แคบลง คือเฉพาะทำเลย่านประตูน้ำ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างน้อยอีก 3-4 โครงการ ที่มีทั้งโรงแรมระดับ 3-4 ดาว และ ช็อปปิ้งมอลล์ในรูปแบบค้าปลีกค้าส่ง

2 In 1 โมเดลยอดฮิต โรงแรม ควบ ช็อปปิ้งมอลล์

แหล่งข่าวผู้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าส่งออกย่านประตูน้ำกล่าวว่า นอกจากโครงการแพลทินัม 2 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เป็นทั้งโรงแรมระดับ 4 ดาวและพลาซ่าแล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 2-3 โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นบนทำเลย่านประตูน้ำ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทั้งที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการรายย่อยทั้งที่เป็นคนไทยและต่างประเทศ

และหนึ่งในนั้นก็คือ โครงการดราก้อนซิตี้แลนด์ ที่ซอยเพชรบุรีตัดใหม่ 15 ผุดโมเดลแพ็กคู่ โรงแรมและช็อปปิ้งมอลล์ ขนาดกลางๆ ประมาณ 200 ร้านค้า

นายมานิต เอื้อทวีกุล ประธานกลุ่มซิตี้เซ็นเตอร์กรุ๊ป เจ้าของโครงการ ดราก้อนซิตี้แลนด์ กล่าวว่า ทำเลย่านประตูน้ำยังมีศักยภาพสูงมาก ที่ยังสามารถสร้างให้เกิดประสิทธิภาพที่สูงขึ้นได้อีกในเชิงธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องหนังแฟชั่น และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คือการบริการด้านโลจิสติกส์

“ในเมื่อเป็นทำเลที่ติดตลาด เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกอยู่แล้ว เมื่อมีโอกาสทำไมเราไม่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และอย่าไปกลัวหรือเกรงว่า การมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้วจะเป็นคู่แข่งกันเอง ในความเห็นส่วนตัวแล้ว การเกิดขึ้นของโครงการใหม่ๆ ไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นคู่ค้าที่จะช่วยกันสร้างทำเลย่านนี้ให้มีการเติบโต เกิดการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น” นายมานิตกล่าวและว่า ดูตัวอย่างในต่างประเทศ บนถนนเส้นเดียวกันมีศูนย์การค้าหลายแห่งตั้งติดๆ กัน นั่นคือแม็กเนตในการดึงดูดลูกค้าให้เดินเข้ามาในย่านนี้แล้ว ส่วนจะเดินเข้ามาที่ห้างใคร อยู่ที่กลยุทธ์ในการจัดวางของแต่ละแห่งที่จะสร้างขึ้น โดยมีผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง

ซึ่งการเกิดขึ้นของพร็อพเพอร์ตี้ใหม่ๆ โมเดลใหม่ๆ นอกจากสะท้อนให้เห็นศักยภาพของทำเลแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการด้วย เพราะจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะเปิดกี่แห่ง กี่โครงการ บนย่านประตูน้ำก็จะมีผู้ประกอบการไปแห่จับจอง เพื่อใช้เป็นประตูเปิดสู่การเข้าถึงลูกค้าทั้งที่เป็นชาวไทยและต่างประเทศ

นักลงทุนหน้าเก่า หน้าใหม่ แห่ผุดโครงการ

ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในช่วงต้นปีมานี้มีหลายๆ โครงการที่เกิดขึ้นแล้ว เริ่มที่ย่านสำเพ็งก็มี โครงการอินเดียเอ็มโพเรียม ของกลุ่มสัจจเทพ ยักษ์ใหญ่วงการค้าผ้า ถัดมาก็คือ กลุ่มเซ็นทรัล ที่ลงทุนลบชื่อ “เซ็นทรัลวังบูรพา” ที่สร้างมากว่า 20 ปีทิ้ง แล้วปรับโฉมใหม่ เป็นศูนย์ค้าส่ง-ค้าปลีกสินค้าแฟชั่น ที่มีพื้นที่ขายรวมกว่า 300 ยูนิต ใช้งบฯในการปรับโฉมครั้งนี้ประมาณ 170 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีอะไรคลาดเคลื่อนประมาณเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ภายใต้ชื่อศูนย์ค้าส่งค้าปลีกสินค้าแฟชั่น “ไชน่า เวิลด์”

ถัดมาอีกนิดในย่านประตูน้ำ ก็มีโครงการเมโทรแฟชั่น ของตระกูลพูลวรลักษณ์ที่จะทำเป็นศูนย์ค้าส่ง-ค้าปลีกเสื้อผ้าแห่งใหม่ สูง 7 ชั้น โดย 4 ชั้นแรกพัฒนาเป็นร้านค้าให้เช่าจำนวน 400 ยูนิต และอาคารจอดรถที่สามารถรองรับได้ 200-300 คัน ใช้งบฯลงทุนหลาย ร้อยล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง

ถัดมาอีก 2 ซอย ประมาณซอยเพชรบุรีตัดใหม่

19 แหล่งข่าวผู้ประกอบการร้านค้าย่อยกล่าวว่า ที่ดินตรงนี้ก็มีการเจรจาเปลี่ยนมืออีกเช่นกัน โดยเจ้าของใหม่มีโครงการที่จะทำเป็นพลาซ่าควบโรงแรม ส่วนในซอยเพชรบุรีตัดใหม่ 15 ก็คือโครงการ ดราก้อนซิตี้แลนด์

นอกจากนี้ตรงข้ามห้างพันธุ์ทิพย์ ก็มีโครงการกรุงทอง 2 ที่เปิดให้เช่าและเปิดขายสินค้าแล้ว ถัดมาอีกไม่ไกลนัก บริเวณฝั่งตรงข้ามห้างแพลทินัม บริเวณที่เป็นอาคารพาณิชย์ ชั้น 2 ก็ทำการปรับโฉมเป็นพื้นที่ให้เช่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงก็คงจะเสร็จเร็วๆ นี้

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการเตรียมการหรือรอดูสถานการณ์เพื่อประกาศโครงการ

โดยคมสรรค์ วิจิตรวิกรม ประธานศูนย์บริการส่งออก ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเกิดขึ้นของพร็อพเพอร์ตี้ใหม่ๆ บนทำเลย่านประตูน้ำนั้น นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของทำเลและความพร้อมของผู้ลงทุนอสังหาริมทรัพย์แล้ว อีกมุมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องก็คือ ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น และเครื่องหนังของไทย ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตไปได้พร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นในความคิดผม ธุรกิจเสื้อผ้าของไทยไม่มีวันตาย ในทางกลับกันจะยิ่งพัฒนาและเติบโตสูงขึ้นๆ เพราะผู้ประกอบการไทยมีพัฒนาการที่สูงขึ้น

คุณภาพดี มีดีไซน์ ราคาถูก

…แม็กเนตดึงลูกค้า

นายมานิต เอื้อทวีกุล กล่าวว่า สาเหตุที่ย่านประตูน้ำสามารถสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั้งในระดับประเทศและระดับโลกได้นั้น คีย์สำคัญอยู่ที่ตัวสินค้าที่มีคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานด้านการตลาดที่สำคัญ

“สินค้าดีมีคุณภาพต้องมาเป็นอันดับ 1 จากนั้นตามมาด้วยราคาที่ซื้อง่ายจึงขายคล่อง พอลูกค้าประเทศหนึ่งมาเจอก็ช่วยกันบอกต่อ ซึ่งเป็นแบบนี้เรื่อยมา และผู้ประกอบการไทยก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่ธุรกิจการ์เมนต์ของไทยก็ยังอยู่ได้”

ซึ่งสอดคล้องกับ คมสรรค์ วิจิตรวิกรม ประธานศูนย์บริการส่งออก ที่บอกว่า ทั้งย่านประตูน้ำ โบ๊เบ๊ และจตุจักร เป็นบทพิสูจน์ที่สามารถยืนยันได้ว่า ธุรกิจการ์เมนต์ของไทยยังสามารถเติบโตและพัฒนาได้อีก

จริงอยู่ บางรายอาจจะล้มหายไปเพราะกำลังไม่พอ ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือสินค้าที่สร้างขึ้นมาไม่โดนใจ ไม่ติดตลาด แต่ในขณะที่บางรายเล็กๆ ที่ล้มไปนั้น ก็ยังมีผู้ประกอบการหน้าใหม่ก้าวเข้าสู่สังเวียนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นการล้มหายไปที่ยังมีตัวตายตัวแทน และตัวแทนที่เกิดใหม่นั้นก็มีศักยภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำงานที่ดีขึ้น มีดีไซน์เพิ่มขึ้น ฯลฯ ซึ่งถ้านับปริมาณคร่าวๆ สำหรับผู้ประกอบการเสื้อผ้าในกลุ่มสตรีตแวร์นั้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย ถ้าคิดเป็นมูลค่าทั้งที่ส่งออกทางตรงและทางอ้อม ปีหนึ่งๆ หลายหมื่นล้านบาท และปีนี้ก็เชื่อว่าน่าจะมีอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%

เพราะฉะนั้นความมหัศจรรย์ของทำเลทองย่านประตูน้ำ จึงไม่ได้หมายถึงประตูน้ำแห่งเดียว แต่หมายรวมถึง โบ๊เบ๊และจตุจักรด้วย และจะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาดผู้ประกอบการที่มีไอเดียที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาสินค้าใหม่ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้บริโภคที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 15 กันยายน 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น