วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เกี่ยวกับโบ๊เบ๊

"โบ๊เบ๊" ขุมทรัพย์หมื่นล้าน
โดย ยุวดี ศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มติชนรายวัน วันที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9889
.....ารส่งเสียง "บ๊งเบ๊ง" ของคนจีนที่แย่งกันขายสินค้าในย่านตลาดขายส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุด เป็นที่มาของการเรียกขานย่านการค้าที่สำคัญนี้ว่า "โบ๊เบ๊"การเกิดขึ้นของตลาดโบ๊เบ๊ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณข้างวัดบรมนิวาส ด้านริมทางรถไฟ เป็นที่มาของการขายผ้าในระยะเริ่มแรก เมื่อแผงค้าผ้าในลักษณะแบกะดินมีจำนวนมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าบางส่วนก็อาศัยพาดผ้ากับแขนและเดินขายให้กับลูกค้าทั่วไปเมื่อตลาดเริ่มคึกคักและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทางวัดบรมนิวาสก็ได้มอบหมายให้แขกอิสลาม เป็นผู้เข้ามาดูแลความเรียบร้อยและจัดเก็บผลประโยชน์ให้กับทางวัดดังนั้น การเรียกเก็บค่าเช่าที่จึงมีมาตั้งแต่สมัยเริ่มแรก จะต่างก็เพียงแต่ในขณะนั้นเจ้าของกรรมสิทธิ์ มอบหมายให้ผู้ดูแลกรรมสิทธิ์เป็นผู้ดำเนินการแทน ผิดกับสมัยนี้ที่ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์เข้าไปเรียกเก็บจากผู้ค้า จนเป็นที่มาของคำประกาศ "ที่นี่ไม่ใช่ของพ่อแม่ใคร" ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พูดผ่านไปยังกลุ่มมาเฟียที่เรียกเก็บผลประโยชน์จากพ่อค้าแม่ขายและหากเป็นจริงอย่างที่พ่อค้ารายหนึ่งได้ให้ข้อมูลกับนายกรัฐมนตรี "ในพื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร ค่าเซ้งที่สูงถึง 4 แสนบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าเช่ารายเดือนที่ต้องจ่ายเป็นประจำในอัตราเดือนละ 8,000-10,000 บาท" ก็น่าจะตั้งคำถามว่า ขุมทรัพย์ในโบ๊เบ๊ มีมูลค่ามากน้อยขนาดไหน จนทำให้ใครๆ ก็ต่างเข้าไปแย่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้จากการสำรวจพบว่าผู้ค้าเฉพาะที่ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ เช่น เสื้อผ้าบูติค เสื้อยืด ผ้าพิมพ์ลาย เสื้อชั้นใน ชุดนอน ชุดลายพรางทหาร ผ้านวม ฯลฯ รวมกันแล้วมีเกือบ 3,000 ราย ซึ่งหากนับรวมแผงค้าประเภทอื่น รวมถึงรถเข็นในรูปแบบต่างๆ ทั้งอาหารและเครื่องดื่มก็อาจจะมีผู้ค้าสินค้าทั้งประเภทสินค้าหลักและสินค้าย่อยถึง 5,000 ราย"เฉลี่ยแล้วเฉพาะแผงค้าเสื้อผ้า ในวันหนึ่งๆ รายได้ก็อยู่ประมาณ 15,000-30,000 บาทต่อวัน ในจำนวนนี้ จะใช้เงินลงทุนประมาณหนึ่งในสี่ของรายได้ หรือประมาณ 25-30%" รายได้ที่สูงเกินวันละหนึ่งหมื่นบาทเป็นอย่างต่ำ จึงไม่น่าแปลกถ้าใครๆ ก็อยากได้แผงค้าในย่านทำเลทองแห่งนี้ทำไมแผงค้าเพียงไม่กี่ตารางเมตรจึงสามารถสร้างรายได้ให้อย่างมหาศาลหากย้อนรอยไปดูการค้าในระยะเริ่มแรก พบว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากต่างจังหวัด ในระยะต้นนั้นผู้ค้าจะส่งพนักงานขาย(เซลส์) ออกไปรับออเดอร์ แล้วนำกลับมาทำตามคำสั่ง จึงเกิดร้านค้าประเภทอาคารพาณิชย์ในระยะเริ่มแรก โดยชั้นล่างจะเป็นที่วางขายสินค้า ส่วนชั้นที่สองและสามก็จะใช้เป็นโรงงานในการตัดเย็บเสื้อผ้า และชั้นที่สี่ก็จะเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของร้านการค้าในลักษณะที่ให้เซลส์ออกไปรับออเดอร์ เริ่มมาเปลี่ยนไปเมื่อกลุ่มผู้ผลิตจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นำสินค้ามาส่งร้านค้าที่โบ๊เบ๊ โดยมาพักมารอส่งของเข้าตลาดที่ริมบาทวิถีหน้าตลาดโบ๊เบ๊เก่า ในจังหวะเดียวกันมีลูกค้าที่มาจากต่างจังหวัดที่เข้ามาขอซื้อของก่อนเพื่อตัดตอนการซื้อจากร้านค้าในโบ๊เบ๊ เมื่อมีผู้มาขอซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดการขายอย่างจริงจังในบริเวณที่พักสินค้านั้น แผงค้าริมบาทวิถีจึงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงนั้นเมื่อผู้ซื้อเริ่มมาเลือกซื้อสินค้าเอง เซลล์ที่ออกไปรับออเดอร์ก็ลดน้อยลงตามลำดับ และนอกจากลูกค้าจากต่างจังหวัดแล้ว เสื้อผ้าสำเร็จรูปในแบบขายส่งก็เป็นที่นิยมของลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เขมร ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์แต่พบว่าในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา เริ่มมีชาวต่างประเทศมาซื้อสินค้ามากขึ้น โดยตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด จะเป็นผู้ซื้อจากประเทศในแถบตะวันออกกลางส่วนประเทศยุโรปตะวันออก จะมีอาทิ รัสเซีย โปแลนด์ และหลายประเทศแถบมหาสมุทรอินเดีย ตลอดจนอุซเบกิสถาน และแอฟริกาใต้ และในช่วง 2 ปีหลังนี้จึงเริ่มมีกลุ่มเอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา ฯลฯและที่สำคัญคือ ตลาดส่งออกไปยังประเทศต่างๆ นั้น มีเกินกว่าครึ่งของสินค้าที่ผลิตขึ้นทั้งหมด ซึ่งรวมแล้วน่าจะมีมูลค่าถึงหมื่นล้านบาทต่อปีการซื้อสินค้าประเภทอื่นที่มีมูลค่าสูงเช่นนี้ ผู้ซื้ออาจจะได้รับตัวอย่างสินค้าจากผู้ผลิต แต่สำหรับการค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปแล้ว ผู้ซื้อจำเป็นต้องมาดูสินค้าและสอบราคาจากร้านค้าแต่ละร้านด้วยตนเอง ดังนั้น ไม่ว่าแผงจะอยู่ ณ จุดใด ก็มีโอกาสในการขายสินค้าได้เท่าๆ กันฉะนั้นแผงขายสินค้าเพียงไม่กี่ตารางเมตรจึงเป็นที่มาของรายได้ที่เท่าๆ กับร้านค้าตามอาคารพาณิชย์และในอาคารขนาดใหญ่"ในบางครั้งลูกค้าต่างประเทศจากบางประเทศจะเช่าเหมาลำเครื่องบินกันมาเพื่อซื้อสินค้า และส่วนมากจะพักอาศัยกันที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ สังเกตได้จากยอดการเข้าพักอาศัย โรงแรมขนาด 310 ห้องนั้น ทุกวันตลอดทั้งปีจะมีคนเข้าพักอาศัยไม่น้อยกว่า 80-90% และอยู่แต่ละครั้งจะนานประมาณ 15 วัน เพื่อสำรวจและซื้อสินค้า อาจกล่าวได้ว่า ในการซื้อแต่ละเที่ยวนั้นจะคุ้มกับค่าเดินทาง และค่าขนส่งสินค้ากลับ คือจะซื้อเพื่อให้เต็มตู้คอนเทนเนอร์"ผู้ค้าบางคนเล่าว่า ต่อแบบ ต่อดีไซน์นั้น เมื่อส่งตัดเย็บขั้นต้นก็เริ่มที่หนึ่งพันโหล หรือประมาณ 12,000 ตัว แต่ถ้าผู้ค้าที่มีความชำนาญก็จะรู้ว่าแบบไหน ลายไหนเป็นที่นิยมก็ต้องสั่งผ้าเตรียมไว้ เพราะอย่าลืมว่า สีผ้าก็ดี เนื้อผ้าก็ดี จำเป็นต้องสั่งในคราวเดียว ฉะนั้นถ้าไม่สั่งให้พอในตอนแรกบางทีหมดแล้วก็อาจจะหมดเลย เพราะกว่าจะสั่งผ้าในล็อตใหม่ ก็อาจไม่เป็นที่นิยมแล้วนอกจากแผงค้าผ้าที่อาศัยตามริมบาทวิถีแล้ว อาคารโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ก็น่าจะยืนยันสภาพคล่องของร้านค้าบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี"ผมซื้อพื้นที่มาเริ่มแรก 16 ตารางเมตร ในราคาสี่ล้านบาท แค่ไม่ถึงปีผมสามารถคืนทุนทั้งหมด ส่วนสองปีให้หลังผมขายกรรมสิทธิ์ไป 10 ล้านบาท ไม่รู้กำไรกี่เท่าตัว แต่ที่ผมขายเพราะผมรู้แล้วว่าจะหาหน้าร้านใหม่ได้ที่ไหน แต่ผู้ค้ารายใหม่ที่ยังไม่รู้ช่องทางก็ต้องลงทุนมากหน่อย แต่เชื่อเถอะ ไม่ถึงปีหรือสองปีเจ้าของใหม่ก็คืนทุน เพราะทุกพื้นที่ในโบ๊เบ๊มีมูลค่าทั้งนั้น" เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารรายหนึ่งเล่าให้ฟังนอกจากนี้ ผู้ค้ายังเพิ่มเติมอีกว่า ในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ที่ผู้ค้าต้องการนั้นเป็นเพียงหน้าร้านเพื่อแสดงสินค้าเท่านั้น เพื่อให้ลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาเลือกดู ส่วนมากก็จะโชว์แค่แบบและสี ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อพอใจแบบแล้ว ก็จะสรุปเลยว่าจะเอาขนาดใด สีใด กี่โหล ดังนั้น แค่เนื้อที่ 2-4 ตารางเมตรก็เพียงพอแล้วในการโชว์สินค้าที่ร้านตนเองมีซึ่งจำนวนแผงค้าและขนาดร้านทั้งหมด เพื่อจะเช็คกลับว่า พื้นที่ขายที่อยู่ในความดูแลของมาเฟียแต่ละกลุ่มมีเท่าไหร่บ้างนั้น น่าจะเช็คได้จากผู้ประกอบการที่มีธุรกิจในการรับจ้างตั้งแผงจากข้อมูลพบว่าธุรกิจรับจ้างตั้งแผงค้านั้นมีอยู่เกือบ 30 ราย โดยในฝั่งเหนือของคลองมหานาคมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 1 ราย มีจำนวนแผงค้าที่ใช้บริการประมาณ 70 แผง และฝั่งใต้ของคลองมหานาค มีผู้ประกอบการรายใหญ่อีก 1 ราย มีจำนวนแผงค้าที่ใช้บริการประมาณ 120 แผง และยังมีผู้ประกอบการรายย่อยๆ อีกจำนวนมาก 10-20 ราย มีลูกค้ารายละ 20-40 แผง ในวันหนึ่งๆ ก็จะตั้งแผง 2 รอบ คือกลางวันและกลางคืน ซึ่งผู้ค้าก็จะเป็นคนละกลุ่ม"ค่าจ้างในการตั้งแผงตกเดือนละ 1,500-2,000 บาท จุดที่เก็บอุปกรณ์แผงอยู่ที่ใต้สะพานเจริญราษฎร์ หน้ามหาวิทยาลัยหัวเฉียว ชุมชนมัสยิดมหานาค ริมถนนอนันตนาค โบ๊เบ๊เซ็นเตอร์ แฟลตกลาง ซึ่งเป็นที่ที่ผู้ค้าแผงที่ไม่จ้างตั้งแผงก็มีการนำไปฝากเช่นกัน จุดที่เก็บอุปกรณ์นี้บางรายมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าที่ฝาก หรือค่าดูแลของแก่ผู้ที่รับฝากด้วย"ดังนั้น หากเขตหรือผู้เกี่ยวข้องอยากรู้ว่าเงินค่าดูแลผลประโยชน์เหล่านี้มีมากน้อยเท่าใด ก็แค่เอาไม้ที่ปูแผงมาคำนวณพื้นที่ทั้งหมด แล้วคูณกลับด้วยค่าเซ้งต่อตารางเมตรธุรกิจเสื้อผ้านั้นต่อปีคงมีถึงหมื่นล้านบาท แต่ขนาดผลประโยชน์ในความดูแลของมาเฟียแต่ละกลุ่มนั้น ใครอยากรู้คงต้องคูณกันเอาเองเพราะแถวนี้ไม่มีคนเก่งคำนวณ!!
.....จุดจอดรถใหญ่ๆ ในย่านนี้จะมีถึง 6 จุด ได้แก่
1. ที่วัดบรมนิวาส จอดในลานวัดได้ 60 คัน และจอดในลานกีฬาอีกประมาณ 60 คัน รวม 120 คัน อัตราค่าจอดรถวันละ 20 บาท
2. จุดจอดที่ริมถนนอนันตนาค จอดได้ 90 คัน ไม่มีค่าจอดรถ
3. จุดจอดที่โบ๊เบ๊ทาวเวอร์ จอดได้ 900 คัน อัตราค่าจอดรถชั่วโมงละ 20 บาท ประทับตรา 3 ชั่วโมงแรก เสีย 20 บาท
4. จุดจอดที่อาคารสหไทย(ฮั่วฟง) จอดได้ 90 คัน ชั่วโมงแรก 20 บาท
5. จุดจอดภายในซอยขรุขระ 70 คัน ชั่วโมงละ 20 บาท
6. จุดจอดที่โรงพยาบาลหัวเฉียว 700 คัน ชั่วโมงละ 50 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น